เกษตรมะนัง ถ่ายทอดความรู้การป้องกันและกำจัดโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน

วันที่ 18 กรกฎาคม 2566 นายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอมะนัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอมะนัง ถ่ายทอดความรู้การป้องกันและกำจัดโรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน ณ ศูนย์เรียนรู้ ผัง 15 หมู่ 7 ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล

โรคลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา ปาล์มน้ำมันที่เป็นโรค ใบด้านล่างจะเหลือง ใบยอดมีจุดสีเหลือง ใบไม่คลี่ ยอดอ่อนพับตัวลงและเริ่มเน่า ต่อมาต้นจะโตช้า รากบริเวณโคนต้น จะเริ่มแห้งและเน่า และสุดท้ายมีดอกเห็ดกาโนเดอร์มา (ลักษณะคล้ายเห็ดหลินจือ) งอกออกมาจากโคนต้น โดยหลังจากแสดงอาการแล้ว ปาล์มเล็กจะตายภายใน 6-12 เดือน และ ปาล์มใหญ่จะยืนต้นตายภายใน 2 – 3 ปี โดยหากมีการติดเชื้อกระจายไปมากกว่า 20% ของพื้นที่ ถือว่าไม่มีความคุ้มค่าต่อการทำสวนปาล์มน้ำมัน

วิธีการป้องกันและกำจัด ดังนี้

1. เตรียมพื้นที่ปลูกโดยกำจัดตอเก่า ทำความสะอาดแปลงเพื่อกำจัดเชื้อสาเหตุในซากพืช และจัดการระบบระบายน้้าให้ดี

2. กำจัดวัชพืช หรือพืชอาศัยอื่นลดการสะสมของเชื้อในธรรมชาติ

3. ทำความสะอาดอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตรก่อนนำไปใช้ทั้งของเกษตรกร และคนตัดปาล์ม

4. บำรุงต้นปาล์มให้แข็งแรง โดยใส่ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับเชื้อไตรโคเดอร์มา อัตรา เชื้อสด 1 กิโลกรัม รำละเอียด 4 – 10 กิโลกรัม และปุ๋ยอินทรีย์ 50 – 100 กิโลกรัม หว่านรอบทรงพุ่ม 3 – 6 กิโลกรัมต่อต้น ในช่วงที่มีความชื้นสูงหรือรองก้นหลุมก่อนปลูก 100 กิโลกรัมต่อหลุม

5. หมั่นสำรวจแปลงเพื่อสังเกตลักษณะอาการของโรค โดยเฉพาะแปลงที่เคยมีประวัติการเกิดโรคในพื้นที่มาก่อน ตรงบริเวณต้นปกติที่อยู่โดยรอบของจุดที่พบต้นที่เกิดโรค ซึ่งลักษณะอาการผิดปกติเริ่มแรก มักคล้ายกับอาการขาดธาตุ และตรวจสอบการเข้าทำลายภายในต้น โดยใช้ไม้เคาะลำต้น

หากลำต้นถูกทำลายจะมีเสียงโปร่งภายใน

6. เมื่อพบดอกเห็ดเจริญเติบโตขึ้นให้รีบกำจัด นำไปทำลายทิ้งนอกแปลงทันที และถากบริเวณที่เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออก ทาทับด้วยเชื้อไตรโคเดอร์มา หรือใช้สารเคมีกำจัดเชื้อรา เช่น thairam และคอยตรวจสอบหากมีดอกเห็ดเกิดขึ้นอีกหรือลักษณะอาการทางใบยังไม่ปกติจะต้องทำการถากซ้้า

7. ราดหรือฉีดพ่นบริเวณรอบโคนต้นและโดยรอบอย่างสม่ำเสมอด้วยเชื้อไตรโคเดอร์ม่า โดยผสมเชื้อสด 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 – 100 ลิตร กรองเฉพาะน้ำมาใช้

8. ขุดหลุมบริเวณรอบโคนต้นที่เกิดโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่อาจจะป้องกันได้ไม่สมบูรณ์เนื่องจากต้องขุดหลุมให้ลึกพอ และระวังเรื่องลงตื้นเขินภายหลัง

โดยโรคดังกล่าว พบการระบาดในพื้นที่อำเภอมะนัง จึงมีความสำคัญที่ต้องสร้างการรับรู้ให้แก่เกษตรในพื้นที่ได้เข้าใจ และสารฃมารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ต่อไป