
เกษตรอำเภอละงู ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อให้บริการเกษตรกรในโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการยั่งยืน
———————————————————————————–
วันที่ 9 พฤษภาคม 2567
นางสาวมนัสนันท์ นุ่นแก้ว เกษตรอำเภอละงู มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู ผลิตเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อให้บริการเกษตรกรในโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการยั่งยืน อำเภอละงู จังหวัดสตูล ใช้สำหรับป้องกันโรคจากเชื้อรา ในพืชตระกลูปาล์มน้ำมัน ยางพารา ไม้ผล และพืชผักสวนครัว ในการยับยั้งการระบาดของโรค เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคราขาว โรคใบร่วง และโรคโคนลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน (โรคกาโนเดอร์ม่า) จำนวน 20 กิโลกรัม ณ สำนักงานเกษตรอำเภอละงู
วิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาชนิดสด สามารถใช้ได้หลายวิธีตามโอกาสและความสะดวกของเกษตรกร เช่น ใช้เชื้อสดผสมกับรำข้าวละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์ในสัดส่วน 1:4:100 โดยน้ำหนักสำหรับใส่หลุมปลูก อัตรา 10-20 กรัม (1-2 ช้อนแกง) คลุกเคล้ากับดินในหลุมปลูกพืช ก่อนการหยอดเมล็ดพืช หรือหว่านลงแปลงปลูก ด้วยอัตรา 50-100 กรัมต่อตารางเมตร หรือใช้ผสมรวมกับวัสดุปลูกสำหรับการเพาะกล้าโดย ใส่ส่วนผสมของเชื้อสด+ปุ๋ยอินทรีย์ ผสมร่วมกับดินหรือวัสดุปลูกอัตรา 1: 4 โดยปริมาตร (20%) นำดินหรือวัสดุปลูกที่ผสมด้วยส่วนผสมของเชื้อสดแล้วใส่กระบะเพาะเมล็ด ถุงหรือกระถางปลูกพืช กรณีของการคลุกเมล็ดพืชก่อนปลูก สามารถใช้เชื้อสดล้วนๆ อัตรา 10 กรัม (1 ช้อนแกง) ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เติมน้ำ 10 ซีซี และถ้าต้องการเชื้อสดในรูปน้ำสามารถใช้เชื้อสดผสมน้ำในอัตรา 100 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร กรองน้ำเชื้อด้วยผ้าหรือกระชอนตาถี่ จะได้เชื้อชนิดน้ำสำหรับใช้พ่น ราด รดลงดิน หรือพ่นส่วนบนของต้นพืช หรือใช้ปล่อยไปพร้อมระบบการให้น้ำใต้ทรงพุ่มของพืช และใช้แช่ส่วนขยายพันธุ์พืช เช่นเมล็ด หัว เหง้า แง่ง ท่อนพันธุ์


